วัดบางพระวรวิหาร ศรีราชา

วัดบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นวัดราษฎร์มหานิกาย ดั้งเดิมมาแต่โบราณอาจสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรือสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชุนบางพระ

ต่อมาเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ วันที่ 4 มกราคม  พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค พร้อมด้วยเจ้าจอมและข้าราชบริพาร โดยเรือพระที่นั่งลำใหญ่ชื่อ “โผเผ่นทะเล” และเรือกลไฟที่สร้างขั้นใหม่ในครั้งนั้นชื่อ “เรือพระที่นั่งสยามอรสุมพล” เป็นเรือลากจูง เสด็จประพาสหัวเมืองชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวสยามไปถึงจังหวัดตราด ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับยังตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี

ซึ่งได้จัดพลับเพลาเป็นที่ประทับชั่วคราว ณ หัวแหลม ตำบลอ่างศิลา ประดับด้วยหินในทะเล ก่อเป็นท่าเรือแบบชนบท ทรงมีพระราชดำริว่า ที่ดินชายทะเลตำบลอ่างศิลานี้อากาศดี จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม มาปลูกสร้างให้เป็นตึกที่ประทับถาวรขึ้นที่หัวแหลม ตำบลอ่างศิลา สำหรับที่จะเสด็จมาประทับในโอกาสหน้า และจะไว้ให้ฝรั่งที่ป่วยเจ็บมาพักรักษาตัวเป็นการกุศลอีกด้วย ตำบลอ่างศิลาจึงเป็นสถานที่พักตากอากาศชายทะเลแห่งแรกที่นิยมกันตามฝรั่งในสมัยนั้น

สำหรับการเสด็จประพาสในครั้งนี้ ได้เสด็จไปเยี่ยมกองทหารเรือที่บางพระซึ่งสมัยนั้นกองทัพเรือตั้งอยู่ที่บางพระ ยังไม่ได้ย้ายไปสัตหีบ และทรงเยี่ยมข้าราชการที่ว่าการอำเภอบางพระ ซึ่งขณะนั้นตั้งอำเภอ ตั้งอยู่ที่บางพระ  ปัจจุบันย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่ศรีราชา ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินตรวจกองทหารที่ข้าราชการที่อำเภอบางพระนั้น ได้เสด็จแวะเพื่อสักการะตามพระราชอัธยาศัย ได้มีผู้กราบบังคมทูลว่า พระอุโบสถที่วัดบางพระสร้างมานานเครื่องบนและทรวดทรงต่างๆชำรุดทรุดโทรมมาก หาผู้ใดบูรณปฏิสังขรณ์ไม่ได้
ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมในการบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้น ประกอบกับวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้บริเวณกองทหาร และที่ว่าการอำเภอบางพระ จึงทรงพระราชดำริ เห็นเป็นการสมควรจะได้บูรณะซ่อมแซมใหม่ให้ดีขึ้น ดั้งนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาทิพากรวงศ์มหาโกศาธิบดี (ขำ บุญนาค) แบ่งจ่ายภาษีอากรสถาปนาให้ดีขั้น เปลี่ยนเครื่องบนเสียใหม่และเสริมผนังให้สูงขึ้นไปจากเดิมอีกสองศอก ต่อมุขหลังให้ยาวออกไป กับสร้างเจดีย์สูง 5 วาขึ้นหลังพระอุโบสถอีกหนึ่งองค์

ทั้งนี้วัดบางพระได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร  ซึ่งในสมัยนั้นพระอุโบสถวัดบางพระสวยงามเป็นหนึ่งในภาคตะวันออกโดยบันทึกของพระครูวรคามคณาภรณ์  มีบันทึกของพระครูวรคามคณาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ในปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งหนึ่งในสมัยหลวงพ่อฉิ่ง  และสมัยพระครุวรกัณฑราจารย์  (บู๊ เจริญศรี) เป็นเจ้าอาวาส โดยมีอาจารย์รูปหนึ่งในวัดเป็นผู้มีฝีมือในการก่อสร้าง การปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นได้จัดทำกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถจากของเดิมที่เป็นไม้ พร้อมกับเปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ทั้งหมด
พระอุโบสถวัดบางพระ ได้ใช้เป็นที่บรรพชา อุปสมบท และรับกฐินพระราชทานเรื่อยมา ภายหลังผู้ขอรับพระราชทานกฐินต่างมีความเห็นว่าพระอุโบสถหลังนี้เล็ก คับแคบ สภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรมมาก ดังนั้นเมื่อคราวกฐินพระราชทาน ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีพลตรีหม่อมทวีวงศ์  ถวัลยศักดิ์ เป็นประธาน เห็นสมควรจะได้ประกอบการกุศลสร้างอุโบสถเสียใหม่จึงได้นำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชาทานพระราชานุญาต เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างใหม่ได้ตามที่ขอพระราชทาน จึงมีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2507 ตามแบบของกรมศิลปากร เครื่องบนนั้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนเงินสร้าง

ตัวพระอุโบสถที่สร้างใหม่ กว้าง 8 เมตร ยาว 21.40 เมตร สูงจากพื้นดินถึงอกไก่ 14.50 เมตร ก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องบนประกอบด้วยไม้ตะเคียน ประตูหน้าต่างทำด้วยไม้สักทั้งแผ่นแกะสลักลวดลายและสร้างพระประธานเพิ่มขึ้น 1 องค์ ใหญ่กว่าพระประธานองค์เดิม มีกำแพงแก้ว และซุ้มเสมารอบบริเวณพระอุโบสถการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2510

ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้าเอกพระอุโบสถ วัดบางพระ ในการนี้ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกต้นพิกุล กับต้นจันทน์ ไว้หน้าพระอุโบสถอย่างละ 1 ต้น

ที่วัดบางพระวรวิหาร มีการประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ ซึ่งเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านในตำบลบางพระและตำบลใกล้เคียงได้แก่ หลวงปู่ฉิ่ง หลวงปู่กัง หลวงปู่บู๊  อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะบูชา ของชาวบ้านในตำบลบางพระและตำบลใกล้เคียง มีตำนานเล่าขานถึงอภิหารของหลวงพ่อฉิ่งคือ”ควายธนูเสก”


มีเรื่องเล่ากันว่า นักเลงในสมัยนั้นเวลามีเรื่องทะเลาะกันจะใช้หางปลากระเบนซึ่งปลายมีเงี่ยงแหลมคมตีกัน และเมื่อเงี่ยงปลากระเบนฝังในร่างกายผู้ใดแล้ว ก็จะไม่สามารถดึงออกได้  ชาวบ้านจึงพากันมาหาหลวงพ่อฉิ่ง เพื่อใช้”ควายธนูเสก” โยงสายสินญ์แล้วบริกรรมคาถาเงี่ยงปลากระเบนที่ฝังอยู่ในร่างกาย ก็จะหลุดออกมา  และ สิ่งก่อสร้างสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือมณฑปพระพุทธบาทบางพระ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่บนเนินเขาห่างจากวัดบางพระวรวิหารไม่ไกลนัก

ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่ากันว่า มณฑปพระพุทธบาทนี้สร้างในสมัยหลวงพ่อฉิ่ง ในปี 2438 เสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2443 เครื่องบนประกอบด้วยไม้ตะเคียน ยอดมณฑปแกะสลักลวดลาย ลงรักปิดทอง ตัวมณฑปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ต่อมาได้มีการบูรณะมณฑปอีกครั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดบางพระวรวิหาร เป็นอีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจและ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธควรเข้ามาสักการะบูชาสักครั้งในชีวิต และมุมมองจากวัดบางพระวรวิหาร ซึ่งเป็นเนินเขาสูง สามารถมองเห็นวิวทางทะเลได้ถึงเกาะสีชัง และมุุมมองสวยๆ ของเมืองศรีราชา

อ้างอิงเพจวัดเขาบางพระวรวิหาร ศรีราชา

ข้อมูลเพิ่มเติม

การเดินทางไปวัดบางพระวรวิหาร ใช้ถนนสุขุมวิท  ตัววัดมองเห็นได้ไกล เพราะอยู่บนเขาพอสมควร และประตูโขงวัดติดกับถนนให้เห็นได้ง่าย ตัววัดตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ติดทะเล
ภายในวัด มีเสนาสนะ กุฏิวิหารมากมายหลายหลัง และแต่หลัง ล้วนสมเกียรติแก่ความเป็นวัดหรือพระอารามหลวง  มีบันไดพญานาคเดินขึ้นไปบนเขา เพื่อสักการะสิ่งปูชนียวัตถุของวัด  หรือจะเดินอ้อมตามถนน ก็ตามแต่กำลังขา ของแต่ละคน

มุมมองบนยอดเขา ซึ่งไม่ค่อยสูงมากนัก แต่ก็พอให้มองเห็นทัศนียภาพรอบเมืองศรีราชา และมองไกลออกทะเล เห็นวิวของเกาะสีชังได้

Share:

Related Posts:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts

Blog Archive

Tags

Popular Posts

คลังบทความของบล็อก