วัดสามัคคีธรรม ลาดพร้าว
ตั้งอยู่ ถนนลาดพร้าว ซอย 64 เกตุนุติ หมู่ 12 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดตามโฉนดเลขที่ 123677-8 เนื้อที่ 10 ไร่ 4 งาน 44 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือยาว 120 เมตร ติดกับทางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้ยาว 160 เมตร ติดต่อกับบ้านเอกชน ทิศตะวันออกยาว 120 เมตร ติดต่อกับโรงเรียนวัดสามัคคีธรรม ทิศตะวันตกยาว 100 เมตร ติดกับหมู่บ้านทิพย์นคร พื้นที่ตั้งวัดโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเสมอพื้นถนน เพราะได้รับการถมที่ไปแล้วประมาณ 90% มีสนามหญ้าพร้อมทั้งต้นไม้ยืนต้นปลูกไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
เสนาสนะและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันกำลังก่อสร้างและเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ได้แก่อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2517 มีความกว้าง 8.50 เมตร ยาว 26 เมตร เป็นแบบกรมศิลปากรและสลักลวดลายสวยงาม พระประธานในอุโบสถ หล่อด้วยทองแดง หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว สูง 260 เซ็นติเมตร พร้อมด้วยพุทธสาวก 2 องค์ มีกำแพงแก้วรอบอุโบสถ พร้อมกันนี้ได้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปจำลองที่สำคัญๆ คือ พระพุทธโสธร หลวงพ่อโต หลวงพ่อบ้านแหลม และพระปางอื่นๆ อีกรวม 6 องค์ ทางด้านทิศใต้ของพื้นที่วัด สร้างกุฏิถาวรอีก 9 หลัง และสร้างศาลาการเปรียญพร้อมทั้งเสนาสนะสิ่งก่อสร้างต่างๆ อีกจำนวนมาก วัดสามัคคีธรรม เดิมชื่อว่า “วัดใหม่” ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ประกาศตั้งวัดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2517 เนื้อที่กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร โดยพระครูสิริธรรมรัต (หล่ำ สิริธัมโม) อดีตเจ้าอาวาสและรูปแรกที่ริเริ่มสร้างวัด มีคุณโยมไปล่ คุณโยมเหรียญ เครือคล้าย บริจาคที่ดิน 3 ไร่กว่า คุณโยมหนู เครือคล้าย บริจาคที่ดิน 3 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา คุณโยมแส แตงวิเชียร บริจาค 1 ไร่ คุณโยมหลิน แตงวิเชียร บริจาค 1 งาน และคุณโยมบุตร เกตุ-หิรัญ บริจาคที่ดิน 1 ไร่
นอกจากนี้ยังมีพุทธศาสนิกชนอีกเป็นจำนวนมากที่ให้ความอุปถัมภ์วัดนี้ด้วยดีเสมอมา ในด้านการศึกษาและสาธารณสงเคราะห์ ทางวัดได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 มีจำนวนนักเรียนธรรม พระภิกษุ 14 รูป สามเณร 4 รูป พร้อมกับสร้างห้องสมุดให้พระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนได้อ่านหนังสืออีกด้วย
หลวงปู่หล่ำ สิริธัมโม – หรือ พระครู สิริธรรมรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดสามัคคี ธรรม ถนนลาดพร้าว 64 แขวงและเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ พระเกจิที่เคร่งครัดและเปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและสาธุชนโดยทั่วไป มีจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตา
มีนามเดิมว่า หล่ำ แซ่เจ็ง เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2472 ที่บ้านหมู่ที่ 1 ต.บางหญ้าแพรก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ บิดา-มารดาชื่อ นาย จุ๊ยเตียง แซ่เจ็ง และนางปิ่น แซ่ซิ้ม
อายุ 7 ขวบ มารดาถึงแก่กรรม จึงย้ายมาอยู่กับตาและยาย พ.ศ.2482 เข้าโรงเรียนประชาบาลวัดแหลม จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นได้ลาออกมาช่วยครอบครัว ทำสวน
อายุ 20 ปี อุปสมบทที่วัดบางหญ้ แพรก จ.สมุทรปราการ โดยมี พระครูสิริศีลคุณ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูเผย เจ้าอาวาสวัดบาง หญ้าแพรก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์ผ่อง เจ้าอาวาสวัดปุ้ณหังสนาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากนั้นเข้าอยู่ในสังกัดวัดบางหญ้าแพรก ท่องสวดมนต์ เรียนพระปริยัติธรรม และเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในปีพ.ศ.2492 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
หลวงปู่หล่ำเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก อีกทั้งได้สืบสานวิชาของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า กับอาจารย์พานต์ นนทตา และเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆ จ.สุพรรณบุรี
มีโอกาสเรียนวิทยาคมกับหลวงพ่อเผยที่เป็นพระเกจิอาจารย์ในขณะนั้น ฝึกออกท่องธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อฝึกฝนจิตใจให้มั่นคง
ยามว่างจากธุดงค์อยู่กับวัด นำสมุดข่อยโบราณมาศึกษา ในช่วงที่หลวงพ่อเผยชราภาพมากท่านได้มอบหมายหน้าที่ทั้งหมดให้เป็นผู้ดำเนินการแทน แม้กระทั่งการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อเผย
หลวงปู่หล่ำยังเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆ จ.สุพรรณบุรี ครั้งหนึ่งท่านเดินทางธุดงค์ผ่านไปแถบเมืองสุพรรณบุรี ได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม จึงเดินทางไปฝากตัวขอเป็นศิษย์เรียนวิทยาคม
หลวงพ่อครื้นถ่ายทอดวิทยาคมและการสร้างเครื่องรางของขลัง อาทิ การสร้างยันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุดนานาชนิด โดยเฉพาะวิชาที่เลื่องชื่อของหลวงพ่อครื้น คือ วิชาทำตุ๊กแก
หลวงพ่อครื้นเคยให้หลวงปู่หล่ำเสกตุ๊กแก โดยท่านนั่งสมาธิคุมอยู่ด้านหลังพิธีกรรม ในครั้งนั้นหลวงพ่อครื้นเอ่ยปากชมว่า “หล่ำทำได้เหมือนพ่อเลยนะ” จากนั้นหลวงปู่หล่ำได้รับความไว้วางใจ เสกตุ๊กแกแทนหลวงพ่อครื้นตลอดเวลา
ช่วงที่หลวงพ่อครื้นใกล้มรณภาพได้อยู่ในอ้อมกอดของหลวงปู่หล่ำ ท่ามกลางศิษยานุศิษย์มากมาย บอกว่า “หล่ำเอย พ่อจะไปแล้วนะ วิชาของพ่อมอบให้หล่ำไปหมดแล้ว ต่อไปต้องสงเคราะห์ชาวบ้านแทนพ่อด้วยนะ”
จวบจนหลวงพ่อครื้นละสังขาร หลวงปู่หล่ำย้ายไปพำนักที่วัด ไกรสีห์น้อย อยู่ได้ระยะหนึ่งญาติโยมที่วัดคลองบางปิ้ง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ นิมนต์ให้ท่านมาช่วยพัฒนาวัด
ได้ไปช่วยพัฒนาวัดคลองบางปิ้งอยู่ 2 พรรษา จนกระทั่งวัดคลองบางปิ้งมีความเจริญรุ่งเรือง ต่อมาได้รับนิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัดสามัคคีธรรม แขวงวังทองหลาง ที่เพิ่งเริ่มสร้างเมื่อปีพ.ศ.2510 จนวัดเริ่มเป็นปึกแผ่นมั่นคง
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่พระครูสิริธรรมรัต
สำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับการยอมรับในวงการเครื่องรางของขลัง นอกจากเครื่องรางตุ๊กแก ที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ เบี้ยเศรษฐี
กว่ากึ่งศตวรรษแห่งการครองสมณเพศ สั่งสมประสบการณ์ เกียรติคุณของท่านเป็นที่รู้จักศรัทธาเลื่อมใส ความชราไม่เป็นปัญหา ด้วยความเมตตาที่เปี่ยมล้น เมื่อวันศุกร์ 22 มี.ค.2562 เวลา 03.40 น. มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น